ดินแดนที่ราบสูงแถบตะวันออกเฉียงเหนือหรือเรียกกันทั่วไปว่าภาคอีสานของประเทศไทยทั้ง
20 จังหวัด ซึ่งเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมที่มีขนบธรรมเนียมประเพณี
วัฒนธรรมเป็นของตัวเองอันเก่าแก่มาแต่บรรพกาลแห่งหนึ่งของประเทศไทย
นอกจากนี้ยังมีภาษาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง เรียกว่า ภาษาอีสาน หรือ
ภาษาพื้นบ้าน เป็นภาษาที่สืบเชื้อสายมาจากอาณาจักรล้านช้าง
ผญา
เป็นคำพูดที่ชาวไทยอีสาน ใช้พูดกันเพื่อแสดงถึงภูมิปัญญาของผู้พูด
นักวิชาการและผู้รู้ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับความหมายของ ผญา ไว้ดังนี้
-ปรีชา
พิณทอง ได้ให้ความหมายว่า ผญา (น.) หมายถึง ปัญญา, ความรู้,
ความฉลาด คำภาษิตที่มีความหมายลึกซึ้งเรียกว่า ผญา
-สำนักงานส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม
มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้สรุปความหมายของ ผญา ไว้ดังนี้ ผญา (น.)
เป็นคำพูดของนักปราชญ์ถิ่นอีสานโบราณ และเป็นภาษาที่มีอายุมากพอสมควร
ผญาเป็นคำที่ถ่ายทอดมาจากคำว่า ปัญญา และปรัชญา
ซึ่งอพยพมาตามหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา
นักปราชญ์โบราณอีสานท่านเปลี่ยนจากคำเดิมคือ ปัญญา เป็น ผญา
เพื่อความสะดวกหรือเพื่อความเหมาะสมกับภาษาถิ่นก็อาจเป็นได้ ปัญญา แปลว่า
ความรอบรู้ ดังนั้น คำว่า ผญา ก็คงมีความหมายเช่นเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน
จากทัศนะดังกล่าวเห็นว่า คำว่า ผญา ปัญญา
ปรัชญา เป็นกลุ่มภาษาเดียวกัน มีความหมายคล้ายคลึงและใกล้เคียงกัน
ซึ่งอาจใช้แทนกันได้ ดังนั้น สรุปได้ว่า ผญา, ปัญญา,
ปรัชญา (wisdom, philosophy, maxim, aphorism) หมายถึง ปัญญา ความรอบรู้ ไหวพริบ สติปัญญา คำคม สุภาษิต
หรือคำที่พูดเป็นปริศนาฟังแล้วได้นำมาคิดมาวิเคราะห์เพื่อค้นหาคำตอบจากปัญหาว่าความจริงเป็นอย่างไร
มีความหมายว่าอย่างไร
ผญา
มีความเป็นมาอย่างไร
วรรณกรรมมุขปาฐะประเภทผญาหรือ
คำคม ภาษิตท้องถิ่นอีสานนี้ มีความเป็นมาอย่างไรหรือใครเป็นผู้ให้กำเนิด
ยากที่จะตัดสินได้ว่ามาจากไหน ใครเป็นผู้ให้กำเนิดหรือริเริ่ม แต่อย่างไรก็ตาม
มีผู้รู้และนักวิชาการ ที่ทำการศึกษาค้นคว้า วิจัย เกี่ยวกับเรื่องผญา
หรือภาษิตอีสาน ได้สันนิษฐานหรือให้ทัศนะเกี่ยวกับที่มาของผญาพอสรุปได้ดังนี้
1.
ผญาเกิดจาก คำสั่งสอนและศาสนา โดยหมายเอา คำสอนของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็ก
ครูบาอาจารย์ที่มีต่อศิษย์ พ่อแม่ที่มีต่อลูกหลาน
ทั้งนี้ก็สืบเนื่องจากคำสอนของศาสนาโดยเฉพาะพระพุทธศาสนา
2.
ผญาเกิดจากขนบธรรมเนียมประเพณี โดยหมายเอา ข้อปฏิบัติที่คนในสังคมอีสานปฏิบัติต่อกันในวิถีชีวิต
3.
ผญาเกิดจากการเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว
อาจหมายเอาแรงบันดาลใจหรือความรู้สึกภายใจที่อยากจะบอกต่อกันและกัน
จึงกล่าวออกมาด้วยคำคมเชิงโวหารภาพพจน์ต่าง ๆ แล้วเกิดการโต้ตอบถ้อยคำแก่กันและกัน
4.
ผญาเกิดจากการเล่นของเด็ก โดยหมายเอา การเล่นกันระหว่างเด็กแล้วมีการตั้งคำถามอย่างเช่น
ปริศนาคำทาย แต่แทนที่จะถามโดยตรงกับสร้างเป็นถ้อยคำที่คล้องจองกัน
5.
ผญาเกิดจากสภาพแวดล้อมหรือเหตุการณ์อื่น ๆ ในวิถีชีวิต โดยหมายเอา
สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตแล้วเกิดแรงบันดาลใจให้เกิดถ้อยคำในใจและมีการกล่าวถ้อยคำที่คล้องจองแก่กันและกัน
ในโอกาศที่เดินทางไปมาค้าขาย หรือกิจกรรมอื่น ๆ (อดิศร เพียงเกษ)
จากการสันนิษฐานที่มาของการเกิดขึ้นของผญา
จะเห็นว่าผญานั้นมีความหมายต่อชาวอีสาน ไม่ว่าชาวอีสานอาศัยอยู่สถานที่ใด
เมื่อมีกิจกรรมใด ๆ ร่วมกัน หรือสนทนากันในกลุ่ม จะมีการกล่าว ผญาสอดแทรกขึ้นมาเสมอ
ด้วยเหตุผลดังกล่าว
ทำให้ผญามีบทบาทหน้าที่และมีความสำคัญต่อสังคมชไทยอีสานตั้งแต่อตีดจนถึงปัจจุบัน
อาจแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ แล้วแต่โอกาสที่จะนำไปใช้ในกิจกรรมนั้น ๆ
ประเภทของผญา
ผญาหรือคำคม
ภาษิตโบราณอีสานนี้ แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 4 ประเภท ดังนี้
1. 1. ประเภทคำสอน เรียกว่า ผญาคำสอนหรือผญาภาษิต เช่น -คันได้กินลาบซิ้นอย่าลืมแจ่วแพวผัก ได้กินพาเงินพาคำอย่าลืมกระเบียนฮ้าง
-คันเจ้าได้อยู่ยอดฟ้าผาสาทประดับมุข
อย่า ได้ลืมเฮียมทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า
ความหมาย : ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้วก็ อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง
2. 2. ประเภทเกี้ยวพาราสี เรียกว่า ผญาเครือ, ผญาย่อย หรือผญา โต้ตอบ เช่น
“ฝันคืนนี้ฝันเป็นประหลาดต่าง
ฝันว่าเสาเฮือนเนิ้งไปทางตะวันออกฝันว่าปอกมีดโต้ตกน้ำล่องหนี
ฝันว่าธำมะรงเหลื้อมในมือกระเด็นแตกเกรงว่านาถเจ้าใจเลี้ยวจากเฮียม”
ความหมาย : ฝันเมื่อคืนช่างฝันประหลาดนัก
ฝันว่าเสาเรือนเอียงไปทางทิศตะวันออก ฝันว่าปลอกมีดตกไปในน้ำ
ฝันว่าแหวนเพชรในมือหล่นแตก เกรงว่าจะเป็นลางร้ายหรือน้องจะจากไป
3. 3. ประเภทปริศนา เรียกว่า ผญาปริศนา-ปัญหาภาษิต
- “อัศจรรย์ใจแข้ หางยาว ๆ
สังบ่ได้ฮองนั่ง
บาดกระต่ายหางแป ๆ
กระต่ายหางก้อม ๆ สังมาได้นั่งฮอง”
ความหมาย : อัศจรรย์ใจ ที่ผู้มีความรู้มามาก ๆ
ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
แต่ผู้ร่ำเรียนมาน้อยกลับมีความสามารถประกอบอาชีพการงานได้สำเร็จและมั่นคงในชีวิต
4. ประเภทอวยพร เรียกว่า ผญาอวยพร เช่น
“
ค่อยอยู่ดีสำบายมั่นเสมอมันเครือเก่าเด้อ ให้เจ้าอยู่ดีมีแฮงความเจ็บอย่าให้ได้ความไข้อย่าให้มี ให้ไปดีมาดีผู้อยู่ให้มีชัยผู้ไปให้มีโชค โชคม้าอยู่เทิงอาน อยู่เทิงเครื่องอลังการสำรับ นอนหลับให้เจ้าได้เงินพัน นอนฝันให้เจ้าได้เงินหมื่น
นอนตื่นให้เจ้าได้เงินแสน แบมือไปให้ได้แก้วมณีโชติ
โทษฮ้ายอย่ามาพาน มารฮ้ายอย่ามาผ่า ให้เจ้ามีอายุ
วรรณัง สุขัง พลัง เดอ ”
|
ความหมาย : ให้อยู่สุขสบาย
ความเจ็บไข้อย่าได้มี ไปดีมาดี ผู้อยู่ขอให้มีชัย ผู้ไปขอ ให้มีโชค อยู่บนเครื่องสำรับอันอลังการ
นอนหลับขอให้ได้เงินพันนอนฝันขอให้ได้เงินหมื่น นอนตื่นขึ้นมาขอให้ได้เงินแสน
แบมือไปให้ได้แก้วมณีโชติ โทษร้ายอย่ามาพานพบ มารร้ายอย่ามากล้ำกลาย ให้มีอายุวรรณะ สุขะ พละ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น